Tuesday 14 November 2017

โรงเรียนอรพินฟาร์ม

วันเสาร์ที่ผ่านมา โชคดีมากที่ได้ไปหา พูดคุย และเป็นนักเรียนของพี่โด่งและพี่ปุ้มแห่งอรพินฟาร์ม
ได้เข้าไปแบบงงๆ เพราะคุยโทรศัพท์นัดกับคุณป้าท่านนึงไว้ แต่พอไปถึงกลับกลายเป็นคนหนุ่มหน้าตาใจดีแว้นมอไซมารับที่ปากทาง
แล้วพี่โด่งก็พาไปที่ฟาร์มอินทรีย์ที่พี่ปุ้มภรรยาและพี่โด่งปั้นขึ้นมาเองกับมือเมื่อหกปีที่แล้ว เราเลยขอฝากตัวเป็นนักเรียนซะเลย
พี่โด่งเป็นคนเชียงราย ได้พบรักกับพี่ปุ้ม(คนอุบล)ที่ กทม และตัดสินใจกลับมาทำนาที่อุบลกัน เมื่อประมาณเกือบ 10 ปีที่แล้ว เพราะไม่อยากอยู่ห่างจากลูกสาวอายุ 2 ขวบ (ในตอนนั้น) ที่ฝากให้ตากับยายเลี้ยงที่อุบลฯ
พี่ทั้งสองเก็บเงินกลับมาได้จำนวนหนึ่ง
สองปีแรกทำนาแบบดั้งเดิม ทำปีละครั้ง ใช้เงินทุกขั้นตอน ทั้งใส่ปุ๋ยเคมี ใส่ยาฆ่าหญ้า รายได้ปีละครั้งไม่พอกับรายจ่ายที่ลงทุนกับนา และรายจ่ายรายวันที่ต้องกินต้องใช้
เงินเก็บมาจาก กทม ชักจะไม่เหลือ
ทำนาแบบเดิมยังไงก็ไม่พอกิน นี่คือสิ่งที่พี่เขาเรียนรู้
พอเริ่มเข้าปีที่สี่ พี่เขาเห็นสารคดีในโทรทัศน์เกี่ยวกับเกษตรผสมผสาน เลยค้นคว้าต่อในอินเตอร์เน็ต ตอนนั้นมีแต่เน็ตมือถือ แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรค
พี่โด่งและพี่ปุ้ม หาความรู้จากอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ แล้วก็ลงมือทำเลย ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่เคยทำมาก่อนเหมือนกัน
พี่เขาลงทุนกับความรู้นะ ขายควายไป 1 ตัว เพื่อซื้อ tablet มาไว้ search หาข้อมูล และติดต่อค้าขาย
หาความรู้ แล้วลงมือทำ
ขุดบ่อ แบ่งพื้นที่ ปลูกพืชหลากหลาย ให้มีรายได้เข้าหลายทาง เริ่มเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู และทำอะไรอีกหลาย ๆ อย่าง ที่เพิ่มรายได้ ให้เข้ามาในเวลาต่าง ๆ กัน ไม่ใช่รอรายได้จากข้าวเพียงอย่างเดียว ครั้งเดียวต่อปี
ลดต้นทุน เลิกใช้สารเคมี ทำเกษตรอินทรีย์ แต่นั่นหมายถึงว่าจะต้องบำรุงดินดี ๆ ด้วยสารอินทรีย์
พี่โด่งบอกว่าไม่มีต้นทุนอะไร ก็เลยไม่เครียดกับราคาข้าว จะขายราคาเท่าไหร่ก็ได้ ขายยังไงก็กำไร
กำไรของอรพินฟาร์มคือ ข้าวนี้ปลอดภัย คนปลูกปลอดภัย คนกินปลอดภัย ธรรมชาติก็ปลอดภัยเช่นกัน
ในตอนแรก ๆ มันยากอยู่แล้วนะ พี่โด่งบอกว่า ...
อุปสรรคมีเสมอ ต้องผ่านไปให้ได้
ในเมื่อวิธีเก่ามันมีปัญหา เราก็หาวิธีใหม่มาทดแทน
ผ่านไป 2-3 ปี พี่โด่งกับพี่ปุ้มรู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว มองไปรอบ ๆ ข้าง ก็ยังเห็นพี่น้องชาวนาทำนาแบบเดิม ๆ เป็นหนี้แบบเดิม ๆ
เลยอยากจะบอกเขาว่า หันมาทำเกษตรแบบนี้ดีนะ นึกได้แบบนี้เลยเพิ่งจะได้เข้าไปหาเกษตรอำเภอ
ไปหาเกษตรอำเภอ เพื่อไปบอกว่าพวกเรามีตัวอย่างที่ลองทำแล้วไปได้สวยมาให้ดู 555 (เจ๋งอะ)
เกษตรอำเภอเองก็สนองเลยจ้า เพราะเขาก็มีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์มากมายอยู่แล้ว แล้วก็จัดอบรมต่าง ๆ อยู่เรื่อย ๆ
ก็เลยมีทั้งคนมาดูงานที่อรพินฟาร์ม และพี่ ๆ ไปอบรมที่อื่น ๆ
พี่โด่งกับพี่ปุ้มก็เลยได้มีเครือข่าย ได้อยู่ในกรุ๊ปไลน์ ทั้งเอาไว้สอบถามแลกเปลี่ยนความรู้ และยังได้ซื้อขายของ รวมตัวกันเอาของไปขาย ฯลฯ
กลุ่มเกษตรอินทรีย์สำโรง ก็ถือกำเนิดจากชาวบ้านมาดูงานที่ฟาร์ม แล้วตั้งกลุ่มไลน์กันขึ้นมา
เทคโนโลยีมีประโยชน์จริง ๆ ถ้าใช้เป็น
การทำเกษตรแบบนี้ เรื่องการจัดการเวลาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราต้องทำอะไรหลาย ๆ อย่าง ต้องจัดเวลาให้คุ้มค่า และเราไม่จำเป็นต้องเหนื่อยเกินไป เช่น
ตอนเที่ยง ๆ แดดร้อน ๆ ไม่จำเป็นต้องออกไปเกี่ยวข้าว มีงานในร่มให้ทำเยอะแยะ
ตอนเย็น ๆ ค่อยใส่ไฟฉายที่หัว ออกไปเกี่ยวข้าว
พี่โด่งบอกว่า เกษตรไม่ใช่งานหนัก แต่ต้องขยัน!
เราเหลือบไปมองที่ใกล้ ๆ อรพินฟาร์มก็ยังไม่เห็นเขาจะทำเกษตรผสมผสานกัน แล้วมันเพราะอะไรกันคะพี่โด่ง
พี่โด่งแยกแยะสาเหตุออกมาให้ฟังเป็นฉาก ๆ เลย
- การยึดติดรูปแบบเดิม ๆ ทำตาม ๆ กันมา
- บางทีตัวลูกอาจจะอยากเปลี่ยน แต่พ่อแม่ก็ห้ามไว้ บอกว่าทำนาแบบเดิมน่ะแหละ
- ขาดความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชแบบอื่น
- ไม่กล้าเสี่ยง
- ใช้เทคโนโลยีราคาแพง(เกินไป) แบบตาม ๆ กัน เช่น จ้างรถไถ รถหว่าน
- เห็นคนอื่นทำเกษตรผสมผสานแล้วต้องขยัน เลยคิดว่าตัวเองทำไม่ได้หรอก
อคติทั้งหมดทั้งมวลนี้ จะมีอานุภาพรุนแรงขึ้นไปอีก สำหรับเกษตรกรที่เป็นหนี้
(ในหัวนี่รีบคิดเลยว่าเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมตอบโต้อะไรได้มั่ง!)
พี่โด่งมีความหวังกับคนรุ่นใหม่ ที่ตอนนี้ทำงานที่อื่นและคิดอยากจะกลับบ้าน
วันนั้นได้ฟังเรื่องราวของพี่ๆ ได้สัมผัสถึงความเมตตา ได้รับพลังของนักปฏิบัติ แล้วก็ยังได้ทานข้าวอร่อย ๆ ฝีมือพี่ปุ้มและพี่วรรณ
ทานข้าวไปเยอะมากกกกก จานใหญ่มากกกก เลยถึงเวลาต้องไปช่วยทำงานในฟาร์ม (หรือป่วนกันแน่)
เราไปขอพี่เขาเกี่ยวข้าวแหละ พี่เขาเลยต้องจำใจไปสอนเกี่ยวข้าวตอนเที่ยง ๆ ร้อนจะตาย 55555
พี่ปุ้มกับพี่โด่งตั้งใจสอนมากนะ เราก็ตั้งใจเรียนนะ แต่มือใหม่อะเนอะ ทำได้ทีละนิด อย่างช้าเลย
คุยนู่นนี่กัน สนุกมาก ทั้ง ๆ ที่ร้อน ถ้าไปตอนค่ำ ๆ คงสบายกว่านี้
พี่ปุ้มเป่าขลุ่ยจากก้านข้าวให้ฟังด้วย
เราขอฝากตัวเป็นนักเรียนกับพี่ๆ อีกรอบ เพราะเราสงสัยว่าทำไมเกษตรกรอีสานยังติดอยู่ในวงเวียนหนี้แบบนี้ และเราขอมาเรียนรู้จากอรพินฟาร์ม เพราะพี่เขาหลุดออกมาได้ด้วยตนเอง
พูดไม่ทันขาดคำ ได้แผลจากต้นข้าวจ้า
พี่ ๆ รีบพาไปอนามัยเพื่อทำแผล ทำให้พี่ ๆ เสียเวลางานอีกนะนี่
เป็นค่าครูให้รู้ว่าต้องเจียมตัวและเตรียมตัวดีกว่านี้ในคราวหน้า ถุงมือและอุปกรณ์อื่น ๆ ต้องพร้อม
ก่อนกลับพี่ปุ้มบอกว่าเวลากลับอุบลมาหาแม่ ก็แวะมาเล่นกับพี่ได้เด้อ
หูย ดีใจจังเลย หนูคิดว่าพี่จะเข็ดกับหนูแล้วซะอีก มาถามอะไรเยอะแยะ กินข้าว กินน้ำ กินแตงโม ไปเกี่ยวข้าวไม่ถึงชั่วโมงก็เป็นแผล แล้วพี่ต้องพาไปอนามัยอีก
หนูขอบคุณพี่โด่งและพี่ปุ้มมาก ๆ ค่ะ
6 ชั่วโมงที่นั่น อาจจะเป็นเวลาสั้น ๆ แต่มันก็นานพอที่หนูจะนับถือใจของพี่ ๆ และหลงรักอรพินฟาร์มได้ค่ะ
ถ้าพี่ไม่เปลี่ยนเบอร์มือถือหนีหนูไป หนูจะไปหาพี่อีกแน่นอน ไว้เจอกันนะคะ

Saturday 22 March 2014

Can't take my eyes off you



เมื่อตอนสายๆ เราปั่นจักรยานผ่านต้นแมกโนเลียต้นนี้ ต้องหยุดจริงๆ มันสวยมาก หวานหยด น่ารัก รูปทรงกิ่งที่แผ่ก็อลังการ เห็นแล้วมองผ่านไม่ได้
เราก็ถอยออกมาจะถ่ายรูป 
ผู้หญิงคนนี้ปั่นจักรยานมาเหมือนกัน เค้ามองไม่เห็นเรา เลยหยุดข้างหน้าเราเลย ฮ่าๆ เค้าไม่ได้แค่ตะลึงเท่านั้น แต่เค้าดมกลิ่นด้วย
ผ่านไปอีกแค่อึดใจเดียว มีครอบครัวพ่อแม่ลูกเดินผ่านมา ก็หยุดยืนดูอีก ดูท่าทางพวกเค้าคงอยู่แถวนั้น เพราะไม่ได้ตะลึงงันมากอย่างเรา แล้วเค้าก็พูดกับผู้หญิงคนที่ปั่นจักรยานว่า "ต้นนี้นี่คนเดินผ่านไปเฉยๆ ไม่ได้เลยเนาะ ต้องหยุดชื่นชม" ว่าแล้วก็คุยกันมุ้งมิ้งว่าฉันวาดรูปดอกแมกโนเลียอยู่พอดี ฯลฯ (เค้าไม่ได้รู้จักกันมาก่อนนะ)
แล้วทุกคนก็แยกย้ายไป หลังจากยิ้มให้เรา เหลือเรายังดูอยู่
ในระหว่างนั้นก็มีคุณลุงปั่นจักรยานผ่านมาอีก หยุดดมอีกเหมือนกัน มีคนเดินผ่านก็หยุดดู เป็นแบบนี้อยู่สองสามรอบ
แป้บนึงเราก็ไปตามทางของเราบ้าง

เจ้าของบ้านได้บุญเลยที่ทำให้คนผ่านไปผ่านมาชื่นใจ (จริงๆก็มีต้นไม้หน้าบ้านแทบทุกบ้านเลย บนถนนสายนั้น) เหมือนที่เคยเขียนไว้แล้วว่าปลูกต้นไม้คือการทำบุญ 
ต้นไม้ ดอกไม้ ธรรมชาติ เป็นสุนทรีย์ในชีวิตจริงๆ นะ เห็นก็ชื่นใจ และยังมีประโยชน์ทางกายภาพ ระบบนิเวศอะไรอีกมากมาย (เรียนกันตั้งแต่เด็กๆ แล้ว) 
แต่วันนี้เราได้เห็นด้วยว่าเค้ายังได้ทำให้คนที่ไม่รู้จักได้คุยกัน หัวเราะ ยิ้มด้วยกัน สร้างอารมณ์ดีให้แก่กัน เกิดความรู้สึกร่วมกัน

ถ้าหน้าบ้านหรือระเบีบงบ้านคุณมีที่ว่างๆ ก็ลองปลูกอะไรเล็กๆ น้อยๆ ให้ตัวคุณเองมีสุนทรีย์ในชีวิตและเผื่อแผ่คนอื่นๆ แบบเจ้าของหลังบ้านนี้ดูนะคะ

Thursday 13 March 2014

เลี่ยงภาษี

คนเยอรมันให้ความสำคัญกับการเสียภาษีมาก
การเลี่ยงภาษีเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ
แม้ทุกคนก็รู้ว่ามันมี
แต่ว่าถ้าคนที่เลี่ยงภาษีถูกจับได้ จะได้รับโทษทางกฎหมายและการประนามจากสังคมอย่างถล่มทลายกรณีล่าสุดคือ Uli Hoeness ซึ่งเป็นผู้จัดการทีม Bayern Munich เป็นอดีตนักฟุตบอลทีมชาติ เป็นคนที่ประสบความสำเร็จทางอาชีพ ผู้คนนับหน้าถือตา แต่เมื่อถูกจับได้ว่าเลี่ยงภาษี ตอนนี้ไม่มีข่าวรายการไหนไม่พูดถึง แม้แต่ฟีดของนิตยสารและสำนักข่าวต่างๆก็พูดถึงเรื่องนี้กันตลอดเวลา
ล่าสุดมีคนถึงขนาดทำเว็บไซต์ขึ้นมาว่าเงินที่ Uli เลี่ยงภาษีไปจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง
http://wievielschuldetuli.de/
จ้างพยาบาลได้กี่คน ทำสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กได้กี่แห่ง เงินเดือนนายกรัฐมนตรีกี่คน หรือซื้อไส้กรอกในสนามฟุตบอลได้กี่อัน ฯลฯ

จำได้ว่าสมัยสเตฟฟี่ กราฟ นักกีฬาเทนนิส อดีตมือหนึ่งของโลก ดังมากๆ พ่อของเธอก็เลี่ยงภาษีค่าตัวของเธอ ทำให้เขาต้องติดคุกในที่สุด

เค้าจริงจังกันขนาดนั้น

แล้วบ้านเราล่ะ เลี่ยงภาษีกันทุกหย่อมหญ้า มีแต่คนที่ทำงานประจำเท่านั้นกระมังที่เลี่ยงภาษียากหน่อย เพราะโดนหักภาษีออกจากเงินเดือนโดยอัตโนมัตื

มันน่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อถือที่เรามีให้แก่รัฐเหมือนกันที่ทำให้ความรู้สึกถึงหน้าที่เสียภาษีมันต่างกัน
ถ้าเปรียบเทียบไทยกับเยอรมนีแล้ว ก็ต้องยอมรับว่ารัฐของเยอรมนีเค้าเอาเงินภาษีไปใช้อย่างโปร่งใสและทำประโยชน์แก่สังคมและประชาชนมากกว่ารัฐของเรา คนเยอรมันเองก็เลยคิดว่าคนในสังคมควรเสียภาษีเพราะก็ได้ใช้บริการจากรัฐ ในขณะที่คนไทยรู้สึกแต่ว่ารัฐโกง
แต่อีกแง่หนึ่งก็เป็นไปได้ว่าคนเยอรมันเค้ารู้หน้าที่ของตัวเองมากกว่า และคิดถึงส่วนรวมมากว่าคนไทย เค้ารู้สึกว่าเค้าควรจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการ ในขณะที่คนไทยอยากได้บริการฟรีๆ

สังคมเราจะมีบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานดีขึ้น คุณภาพชีวิตคนดีขึ้น ก็ต้องรอให้คนไทยให้รู้จักหน้าที่ตัวเอง และรัฐก็ทำอะไรโปร่งใสและทำให้โครงการที่สมเหตุสมผลและให้ประโยชน์ในวงกว้างมากกว่านี้

Wednesday 4 September 2013

ปลอดสาร

เมื่อกี้ปั่นจักรยานจากที่ทำงานไปโรงอาหาร
ระยะทางประมาณ 2 km คือช่วงปั่นกลับนี่ อาหารย่อยพอดี
มีช่วงต้องผ่านอุโมงค์ต้นไม้ด้วย สองอุโมงค์ ฟินมาก
วันนี้อากาศดี แดดออก ฟ้าสวย ไม่ร้อนจัด เย็นกำลังสบาย
ก่อนไปซื้ออาหารแวะเข้าห้องน้ำก่อน 
เห็นอะไรสีขาวๆบนหัว ในใจคิดว่า "รังแคอีกละ เบื่อจริง"
หยิบออก "เฮ้ย รังแคดิ้น"
คือ จริงๆมันคือหนอน!!!

ธรรมชาติไปมั้ย ประเทศนี้
แสดงว่าเราไม่มียาฆ่าแมลง :-P
หรือหัวเราเน่าละเนี่ยะ!?!



Tuesday 16 July 2013

สอบในเยอรมันอีกครั้ง

นับถือความแม่นยำของคนเยอรมันจริงๆ

หลังจากจบไปไม่ได้สอบที่นี่มาเกินสามปี วันนี้ได้สอบอีกครั้ง
ปกติข้อสอบปลายภาคคณะนี้มหาวิทยาลัยนี้ จะเป็นการชี้ชะตากรรมของทั้งเทอม (เรียนที่นี่ไม่มีการเก็บคะแนนใดๆทั้งสิ้น สอบปลายภาคทีเดียว 100%) เวลาสอบ 60 นาที คะแนนเต็ม 60 คะแนน ที่ท้ายข้อสอบแต่ละข้อจะเขียนคะแนนไว้ ให้นักศึกษารู้ว่าคะแนนเต็มเท่าไหร่ และควรใช้เวลากี่นาทีกับข้อนั้นๆ (หนึ่งคะแนนควรใช้หนึ่งนาที)

วันนี้เป็นการตอกย้ำอีกครั้ง ทำข้อสอบเสร็จปุ๊บ คือใส่จุด fullstop ประโยคสุดท้าย หมดเวลาเป๊ง ไม่ต้องทวนมันเลยทีเดียว มันจะเป๊ะไปไหน นี่แบบว่าอ่านคำถามปุ๊บก็เริ่มเขียนคำตอบปั๊บ ไม่ได้โอ้เอ้นั่งระลึกชาติลังเลว่าจะตอบแบบไหนดีเลยซักนิด

ความทรงจำเก่าๆกลับมาเลย มันเป็นแบบนี้มาตลอดว่าหากเตรียมตัวสอบดีๆ จะสามารถทำข้อสอบได้แบบอ่านโจทย์แล้วตอบทันที และเวลาจะหมดพอดีเป๊ะ

คนออกข้อสอบเค้าเซียนกันจริงๆ นับถือๆ

Monday 15 October 2012

Market designers win the Nobel Prize 2012! ^^


ขอแสดงความยินดีกับ Prof. Alvin E. Roth และ Prof. Lloyd S. Shapley สำหรับ The Sveriges Riksbank Prize in Economic Sciences in Memory of Alfred Nobel 2012
หรือเรามักจะเรียกง่ายๆว่า รางวัล "โนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์" ของปีนี้ค่ะ (หนูดีใจมากๆ :-)

"for the theory of stable allocations and the practice of market design"

ณ โอกาสนี้เลยขอนำลิ้งค์บทความของ Prof. Ockenfels ที่เขียนถึง market design และเราได้แปลเอาไว้ ลงในบล็อกนี้เมื่อปีที่แล้ว มาให้อ่านกันอีกรอบนะคะ เผื่อสนใจ เราแปลยังไม่เก่งมาก แต่มีใจนะ ^^
http://exploy.blogspot.com/2011/05/blog-post.html


รายละเอียดของผู้ได้รับรางวัลทั้งสองตามนี้เลย
http://www.nobelprize.org/nobel_prizes/economics/laureates/2012/

นอกจากนี้ Prof. Alvin E. Roth ยังเขียนบล็อกส่วนตัวเกี่ยวกับ market design ด้วย เข้าไปอ่านกันได้ น่าสนใจและสนุกนะ เค้าเขียนบล็อกทุกวันเลย สุดยอดแหะ ^^
http://marketdesigner.blogspot.com/