Sunday 18 December 2011

เป็นอยู่คือ ตอน ทำเป็น เล่นไป

ผู้ที่เป็นคนจุดประกายให้เราเขียนบล็อก (พี่เค้าคงไม่รู้ตัวหรอก :)

ตอนที่หนึ่ง
http://www.youtube.com/watch?v=pLqY_VSj7FE&feature=channel_video_title

ตอนที่สอง

Monday 3 October 2011

ปลูกต้นไม้คือการทำบุญ

เคยได้ยินคนรู้จักที่เป็นคนลาวบอกว่าคนลาวถือว่าการปลูกต้นไม้เป็นการทำบุญ เราใช้ตรรกะคิดก็เห็นว่าใช่นะ วันนี้ได้อ่านหนังสือ"คนรักษ์ป่า ป่ารักษ์คน"ของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) แล้วเจอการอ้างอิงอย่างชัดเจนตามนี้ค่ะ (click ที่ชื่อหนังสือ เพื่อโหลดอ่านได้เลยค่ะ)
________________________________________

... ตามคำสอนที่มีมาในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสไว้เอง (ส.ส.15/146/46) ว่า

อารามโรปา วนโรปา เย ชนา เสตุการกา...

เป็นคาถาซึ่งแปลความได้ว่า "ผู้ที่ปลูกสวน ปลูกป่า สร้างสะพาน สร้างโรงน้ำบริการ และขุดบ่อน้ำสำหรับผู้เดินทาง ให้ที่พักอาศัย ชื่อว่าเป็นผู้มีบุญที่เจริญทุกเมื่อ ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน"

ทำไมจึงได้บุญเพิ่มพูนตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน ก็เพราะว่าสิ่งเหล่านี้คนอาศัยใช้ประโยชน์ตลอดเวลา อย่างต้นไม้นี้ ปลูกไปแล้วก็เป็นประโยชน์อยู่เรื่อยไป มิใช่ว่าครั้งเดียวหมด เพราะฉะนั้นจึงเป็นการทำบุญที่ท่านยกย่องสรรเสริญ ...

ธรรมกถา ของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) แก่คณะข้าราชการและนิสิต มี ดร.สุรีย์ ภูมิภมร เป็นผู้นำ ในคราวทำบุญปลูกป่าที่สถานพำนักสงฆ์สายใจธรรม เขาสำโรงดงยาง ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา วันที่ 28 เมษายน 2536

Wednesday 24 August 2011

ซักวันหนึ่ง...

หาข้อมูลบางอย่างเพื่อจะเขียน proposal สำหรับงานวิจัยเชิงทดลองที่เกี่ยวข้องกับ collective action ของชุมชนในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เลยกลับมาอ่านสไลด์วิชา experimental economics สมัยเรียนอยู่ที่ University of Cologne

สองประโยคสุดท้ายของสไลด์หน้าสุดท้ายของวิชานี้ Prof. Dr. Jeannette Brosig-Koch เขียนไว้ว่า

Die experimentelle Wirtschaftsforschung startet mit mordernen Ansaetzen in 'behavioral economics' und kontrollierten Feldexperiment zu neuen Ufern.
In wenigen Jahren wird man den Studierenden lehren: "Ob ihr es glaubt oder nicht: im letzten Jahrtausend hat man die Wirtschaftswissenschaft allein auf das Modell des homo oeconomius gestuetzt." :)
แปลว่า...
เศรษฐศาสตร์เชิงทดลองร่วมกับวิธีการสมัยใหม่ของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและ controlled field experiment เริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ และค้นพบความรู้ใหม่ๆ
ในอีกไม่กี่ปีพวกเราจะคุยกับนักศึกษาว่า "ไม่รู้ว่าพวกคุณจะเชื่อหรือปล่าว ว่าในศตวรรษที่แล้วพวกเราศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์กันด้วยโมเดลของสัตว์เศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว" :)

ตอนนี้เห็นในประเทศไทยมีเศรษฐศาสตร์หลายๆสาขาหันมาดึงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองเข้าไปช่วยตอบโจทย์ต่างๆ แล้วก็ดีใจ เพราะการตอบคำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจของมนุษย์นั้น จะละเลยพฤติกรรมของคนไปได้อย่างไรกัน



Sunday 3 July 2011

นโยบายพลังงานหมุนเวียนในประเทศเยอรมนี

เป็นบทความที่เขียนร่วมกับพี่ช่วง (ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง) ให้กับมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค
ได้ลงหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 11 มิถุนายน 2554 หน้า 9

เว็บของ Gulf JP เอาไปลงอีกที
http://www.gulf.co.th/gulfjp/en/news/news-monitors-detail.php?id=1867
และเว็บ energychoices (แต่ไม่ใส่ชื่อผู้เขียนแหะ)
http://www.energychoices.in.th/node/257

ใครสนใจ ลองอ่านดูค่ะ
..............................................................................

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่องแนวทางการดำเนินนโยบายและกำกับกิจการไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภค สนับสนุนโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้รวบรวมนโยบายด้านพลังงานหมุนเวียนของประเทศเยอรมนีซึ่งผู้วิจัยคาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของไทย ที่จะเกิดประโยชน์โดยรวมอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถพาประเทศออกจากวิกฤตพลังงานได้
          พระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียน(Das Erneuerbare-Energien-Gesetz : EEG)
          พระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียนบังคับให้บริษัทผู้ให้บริการไฟฟ้าต้องรับซื้อกระแสไฟฟ้าที่ผลิตมาจากพลังงานหมุนเวียนโดยกำหนดขั้นต่ำตามราคาที่รัฐกำหนด พระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียนได้ถูกปรับปรุงครั้ง
          ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.2010 เพื่อผลักดันให้มีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
          ตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมายพลังงานหมุนเวียนนี้ในปี ค.ศ.1990 ก็ได้มีการพัฒนาพลังงานลมเป็นอย่างมาก และเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายพลังงานหมุนเวียนครั้งแรกในป
          ค.ศ.2000 ก็ทำให้การใช้พลังงานจากชีวมวลและพลังงานแสงอาทิตย์ขยายตัวขึ้นอย่างมากการพัฒนาที่น่าชื่นชมเป็นอย่างมากคือการใช้พลังงานความร้อนได้พิภพมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า
          ดังนั้น กฎหมายพลังงานหมุนเวียนนี้จึงได้กลายเป็นเครื่องมือที่ประสบความสำเร็จและน่าจะนำไปเป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศที่จะผลักดันนโยบายพลังงานหมุนเวียนให้เป็นรูปธรรมต่อไป
          พลังงานหมุนเวียนหลักๆ ที่มีใช้อยู่ในประเทศเยอรมนีในการผลิตไฟฟ้า คิดเป็น10.1% และได้รับการสนับสนุนภายใต้กฎหมายพลังงานหมุนเวียน  มีดังต่อไปนี้
          พลังงานลม
          จากข้อมูลของกระทรวงสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และความปลอดภัยทาง
          นิวเคลียร์ ของเยอรมนี ระบุไว้ว่า ในปี ค.ศ.2009 มีการก่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานลมมากขึ้น 880 แห่ง เทียบกับปี ค.ศ.2008 ที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานลมเป็นจำนวน 20,288 แห่งและมีการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลมทั้งหมด 37.8 ล้านกิโลวัตต์ (TWh) จากโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งหมด 21,164 โรงสัดส่วนของการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมต่อกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทั้งหมดคือ 6.5%
          พลังงานน้ำ
          ในปี ค.ศ.2009 มีการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำเป็นจำนวน 19 ล้านกิโลวัตต์(TWh) คิดเป็น 3.39% ของไฟฟ้าทั้งหมดและสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 16 ล้านตัน การเพิ่มจำนวนและการปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ มีค่อนข้างน้อยเช่นเดียวกับปีที่ผ่านๆ มา แต่ยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กอีกหลายๆ แห่งที่ควรได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาใช้งานได้ใหม่และการปรับปรุงเทคนิคในโรงงานที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัย
          อีกทั้งสร้างโรงงานไฟฟ้าเพิ่ม ณ จุดที่มีสิ่งก่อสร้างที่ปิดกั้นทางเดินน้ำอยู่แล้ว
          เป้าหมายของรัฐบาลเยอรมนี คือ เพิ่มกำลังการ ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำไปพร้อมๆ กับการ ปรับปรุงสภาพนิเวศวิทยาของแหล่งน้ำให้ดีขึ้นด้วย
          พลังงานชีวมวล
          ในปี ค.ศ.2009 มีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากชีวมวลเป็นจำนวนประมาณ 28.6 ล้านกิโลวัตต์ (TWh) คิดเป็นสัดส่วน 5.2% ของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด(ในการทำความร้อนใช้พลังงานจากชีวมวลเป็นสัดส่วนถึง 91% จากพลังงานที่ใช้ทำความร้อนทั้งหมด เนื่องจากประเทศเยอรมนีมีอากาศหนาวเย็น พลังงานที่จะใช้ทำความร้อนจึงเป็นสัดส่วนที่สำคัญ)
          พลังงานแสงอาทิตย์
          แสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานที่มั่นคงและสามารถใช้ได้ในระยะยาว พลังงานแสงอาทิตย์สามารถใช้ได้โดยตรงโดยนำมาทำความร้อน และสามารถให้กระแสไฟฟ้าได้จากการใช้โรงไฟฟ้าและความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (photovoltaic) ในปี
          ค.ศ.2009 กระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามากเช่นเดียวกับปีที่ผ่านๆ มา คือมีจำนวนทั้งสิ้น 6.2 ล้านกิโลวัตต์ (TWh) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
          ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไฟฟ้านิเวศ (Eco-Electricity)
          มีปัญหาเกี่ยวกับนิยามของไฟฟ้านิเวศอยู่สองประการ ดังต่อไปนี้
          ประการแรกไม่มีนิยามที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของไฟฟ้านิเวศ เพราะคำว่า ไฟฟ้านิเวศ (eco-electricity) ไม่ได้เป็นคำบรรยายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย
          ประการที่สองการส่งไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทุกแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน น้ำมันหรือกระแสลม ฯลฯ ไปสู่ผู้บริโภคใช้สายส่งเดียว ไม่ได้แยกสายส่งเป็นพิเศษสำหรับส่งไฟฟ้านิเวศ ดังนั้น ที่ปลายสายไฟฟ้าจึงไม่สามารถแยกได้ว่าไฟฟ้าที่ใช้มาจากแหล่งพลังงานใด
          แต่โดยทั่วๆ ไปแล้วมีคำนิยามของไฟฟ้านิเวศ ดังนี้
          ไฟฟ้านิเวศ(Eco-Electricity) คือ ไฟฟ้าที่ผลิตมาจากพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์พลังงานชีวมวล รวมไปถึงพลังงานความร้อนใต้โลก (Geothermal Energy) ซึ่งต่างจากไฟฟ้าแบบดั้งเดิม (Conventional Electricity)ที่ได้มาจากพลังงานนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ ที่ในขั้นตอนการผลิตจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก และส่งผลต่อปรากฏการณ์เรือนกระจก
          เนื่องจากประเทศเยอรมนีมีพระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียนมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 เพื่อสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ โดยผู้ให้บริการไฟฟ้าถูกบังคับให้รับซื้อไฟฟ้าประเภทนี้และขายต่อแก่ผู้บริโภค ราคาที่รับซื้อนี้ได้ถูกรวมอยู่ในราคาขายเรียบร้อยแล้ว
          ดังนั้น กระแสไฟฟ้าส่วนหนึ่งที่ผู้บริโภคได้ใช้จึงมาจากพลังงานนิเวศ
          ตั้งแต่มีพระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียนเป็นต้นมา มีผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าหันมาให้บริการไฟฟ้านิเวศ (ไม่มีกระแสไฟฟ้าจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลและนิวเคลียร์เจือปน)มากขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีกฎหมายบังคับ เมื่อกลางปี ค.ศ.2009 มีประชาชนประมาณ 2 ล้านคนใช้ไฟฟ้าจากไฟฟ้านิเวศ และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยบริษัทที่ได้รับความสนใจส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่ให้บริการไฟฟ้านิเวศอย่างเดียว
          และในปี ค.ศ.2009 มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้านิเวศต่อไฟฟ้าทั้งหมดถึง 16% ในปีค.ศ.2008 ไฟฟ้านิเวศมีราคา 1.1 เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (ประมาณ 42 สตางค์)ปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ ไฟฟ้าที่ได้รับการอุดหนุนจากพระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียนแล้ว จะไม่สามารถขายในนามของไฟฟ้านิเวศได้
          ดังนั้น ผู้ให้บริการไฟฟ้านิเวศจึงมักจะซื้อไฟฟ้ามาจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศยุโรปอื่นๆ และขายไฟฟ้านี้ในฐานะไฟฟ้านิเวศในประเทศเยอรมนี
          ประโยชน์ที่จะได้จากไฟฟ้านิเวศจะเกิดขึ้นเมื่อไฟฟ้านิเวศสามารถเข้ามาแทนที่ไฟฟ้าดั้งเดิมในตลาดได้ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไฟฟ้านิเวศที่ควรจะได้รับการสนับสนุนจึงเป็นไฟฟ้าที่ได้มาจากแสงอาทิตย์ กระแสลมกระแสน้ำ และชีวมวล
          สำหรับประเทศไทยนั้น หากเราจะทำนโยบายสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง ก็น่าที่จะผลักดันกฎหมายลักษณะนี้ให้ประชาชนและองค์กรอื่นๆ เข้ามามีบทบาทในด้านการผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ในครัวเรือน ถ้าเหลือใช้ก็สามารถขายคืนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต  หรือผู้ประกอบการอื่นๆ ได้
          ตรงนี้เป็นโจทย์ที่กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ คงต้องหาทางออกร่วมกันว่า ทิศทางของพลังงานไทยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาจัดการด้านพลังงานได้มากน้อยแค่ไหน

Sunday 29 May 2011

สอนควายไถนา

เมื่อกี้ดูข่าวช่องทีวีไทย (thai pbs) จริงๆเปิดทีวีไว้และต้มมาม่าไปด้วย แต่ต้องหยุดชะงักหันไปตั้งใจดูข่าว เพราะประโยคที่บอกว่า

“ชาวนาเอาควายไปหัดไถนา เพราะควายไม่เคยไถนา

ที่ต้องเอาควายมาไถนาอีกครั้ง เพราะเป็นการลดต้นทุน ช่วงหลังมาน้ำมันที่ใช้สำหรับรถไถแพงมาก

ใช้ควายไถนาช่วยลดต้นทุนได้หลายหมื่นเลย”

นี่เป็นรายงานข่าวสั้นๆเกี่ยวกับลุงเพียรและภรรยา ซึ่งเป็นชาวอีสาน และได้รับที่ดินพระราชทาน 6 ไร่ ที่อำเภอตากใบ จึงไปทำนาที่นั่น

“ลุงเพียรและภรรยาสอนควายไถนาได้เร็ว เพียงแค่หนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ควายก็ไถนาเป็นแล้ว”

นอกจากควายจะทำงานแบบไม่กินน้ำมันแล้ว ควายยังกินหญ้า(วัชพืช) และยังทำปุ๋ยให้อีกด้วย ชาวนาหลายคนยังบอกว่าควายเป็นเพื่อนด้วยนะ ฮ่าๆ

ลุงเพียร เปิดโรงเรียนสอนควายไถนาที่ตากใบ แล้วก็ยังทำนาแบบธรรมชาติ เช่น ปลูกข้าวเหนียวดำแทรกกับข้าวเพื่อไล่แมลง และปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดดินเปรี้ยว

เท่ห์ดีเนอะ

อยากรู้ว่าเค้าทำอะไรแบบนี้อีกบ้าง

ข่าวบอกว่าลุงเพียรได้รับพระราชทานที่ดินมา ก็เลยอยากทำความดีให้คนอื่นบ้าง :)


จบข่าวนี้แล้ว เรารู้สึกทั้งดีใจ โล่งใจ และแอบกังวล

ดีใจ - ชาวนาไทยก็ยังมีทางเลือกอื่นนอกจากเทคโนโลยีที่ต้นทุนสูง แต่ถ้าจะพูดให้ถูก คือ ชาวนาหรือเกษตรกรไทย(ด้วยซ้ำ)มีภูมิปัญญาและรู้จักวิถีชีวิตที่เป็นมิตรและสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม พอดีกับสิ่งแวดล้อม เอื้อหนุนเกื้อกูล เติบโตไปกับสิ่งแวดล้อม เกษตรกรไทยเค้ารู้เรื่องพวกนี้มาตั้งแต่พระเจ้าเหาแล้ว

โล่งใจ - ยุคหนึ่งกระแสโลกหมุนพาเกษตรกรไทยให้ไปเร็วๆด้วย แต่เมื่อถึงเวลาที่จำเป็นเกษตรกรไทยก็ฉลาดมากที่ค่อยๆหันมาปรับตัวเองใหม่

และโล่งใจ - มันยังไม่ช้าเกินไปก่อนที่ภูมิปัญญาพวกนี้จะหายไปเสียก่อน ถ้าไม่เช่นนั้นถึงจะอยากกลับไปใช้ควายไถนา ก็อาจจะทำได้ไม่เร็วภายใน 1 สัปดาห์แบบนี้ ต้องมาลองผิดลองถูกกันใหม่ อาจจะกินเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี เหมือนที่เราต้องมาขุดหาซากไดโนเสาร์ทีละชิ้น ทีละชิ้น

แอบกังวล – มีภูมิปัญญาเจ๋งๆแบบนี้สูญหายไปเท่าไหร่แล้ว แล้วถ้ากระแสหลักยังไม่ใส่ใจวิถีการใช้ชีวิตที่เข้ากับธรรมชาติอย่างกลมกลืนต่อไปแบบนี้ ไม่รู้ว่าภูมิปัญญาอะไรที่จะสูญหายไปอีก สูญหายไปทั้งๆที่เรายังไม่รู้จักมันเลย

ทำให้นึกถึงเมื่อเดือนที่แล้วดูหนังเรื่อง “สวรรค์บ้านนา” เป็นหนังที่จริงมากๆ ยังกะสารคดี แต่มันไม่ใช่สารคดีนี่สิ เรื่องและตัวละครมันจริงมาก ลองหาดูกันนะ จะเห็นชาวนาไทยมาอยู่ตรงหน้าเลยล่ะ
ที่กล่าวถึงเพราะว่าหนังก็พาไปดูตอนเค้าเอาควายไปฝึกไถนาเหมือนกัน โดยเป็นสัญลักษณ์ของการกลับสู่ธรรมชาติ ให้เห็นความน่ารักของการใช้ควายไถนาเลยแหละ

ที่สำคัญหลังจากดู"สวรรค์บ้านนา"และ"ข่าวลุงเพียร"แล้ว ทำให้นึกถึงคำที่ผู้ใหญ่แถวๆบ้านพูดให้ฟังตั้งแต่เด็กๆว่า

"จะไปเปรียบเทียบว่าโง่เหมือนควายได้ยังไง ถ้าควายโง่แล้วจะช่วยชาวนาไถนาได้เหรอ"

Monday 16 May 2011

ขำขัน? เรื่องนักเศรษฐศาสตร์กับผู้บริหาร

นายขาวนั่งอยู่บนบอลลูน ก่อนหน้านี้ลมแรงมาก ทำให้เขาเสียการควบคุมและหลงทาง ตอนนี้บอลลูนลอยอยู่เหนือทุ่งนาสูงขึ้นมา 5 เมตร ขาวมองเห็นชายอีกคน (ชื่อ เขียว) อยู่ข้างล่างบอลลูน
ขาว : ขอโทษนะครับ ตอนนี้ผมอยู่ที่ไหนครับ
เขียว : คุณอยู่ในบอลลูน และลอยอยู่เหนือทุ่งนาระยะ 5 เมตร ครับ
ขาว : คุณจะต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์แน่ๆเลย
เขียว : ใช่แล้ว คุณรู้ได้ยังไงเนี่ยะ
ขาว : ง่ายมากเลย คำตอบของคุณนะถูกต้อง แต่ไม่มีประโยชน์ ไม่ช่วยอะไรเลย
เขียว : ถ้าอย่างนั้นคุณก็ต้องเป็นผู้บริหารแหงๆ
ขาว ใช่ๆ แล้วคุณรู้ได้ยังไงล่ะ
เขียว : ก็ไม่เห็นจะยาก จากตำแหน่งของคุณนะ วิวดีมากๆ คุณสามารถมองเห็นได้ตั้งไกล แต่คุณก็ยังไม่รู้อีกว่าคุณอยู่ที่ไหน และคุณควรจะไปทางไหนต่อ แถมตั้งแต่เราเจอกัน คุณก็ยังอยู่ที่เดิมเนี่ยะ และที่สำคัญอยู่ดีๆผมก็ต้องมารับผิดชอบปัญหาของคุณซะงั้น

Sunday 8 May 2011

เศรษฐศาสตร์เชิงทดลอง คืออะไร (แบบเบาๆ :)

ในโมเดลเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มักสร้างมาจากสมมติฐานว่าคนเป็นสัตว์เศรษฐกิจ (Homo Oeconomicus) คือ มีเพียงแรงจูงใจที่จะหากำไรสูงสุด โดยตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลสมบูรณ์ และรู้ทุกเรื่อง มีข้อมูลทุกอย่าง แต่ในความเป็นจริงมนุษย์ไม่ได้ตอบสนองแรงจูงใจอย่างที่สัตว์เศรษฐกิจเสมอไป มนุษย์ที่มีเลือดมีเนื้อมักจะไม่มีความสามารถทำทุกสิ่งได้อย่างมีเหตุมีผล แต่มนุษย์ตัดสินใจผิดพลาด มีข้อจำกัดในการมีเหตุมีผล (bounded rationality) และไม่ได้ถูกจูงใจแต่เฉพาะจากเงินเท่านั้น ดังนั้นเราสามารถเพิ่มความแม่นยำของโมเดลได้โดยการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมการตัดสินใจของมนุษย์ ในห้องปฏิบัติการทางเศรษฐศาสตร์ (economic laboratory)

เศรษฐศาสตร์เชิงทดลอง เกิดมาจากความคิดที่ว่าเศรษฐศาสตร์สามารถค้นหาความจริงด้วยการทดลองโดยควบคุมตัวแปรได้เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ และไม่ใช่เก็บข้อมูลได้เพียงแต่จากภาคสนามหรือในโลกจริงๆ(real world)เท่านั้น ในการทดลองทางเศรษฐศาสตร์ จะใช้คนจริงๆมาสวมบทตัวละครในตลาดและเล่นเกมที่มีผลตอบแทนเป็นตัวเงินจริงๆ โดยเป็นแรงจูงใจภายใต้สถานการณ์ต่างๆในห้องทดลอง เพื่อทำความเข้าใจว่าการตัดสินใจและพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลได้รับอิทธิพลจากปัจจัยอะไรบ้างภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ถูกควบคุม

การวิจัยโดยการทดลองนี้ช่วยให้เราสามารถทดสอบผลกระทบของตัวแปรใดตัวแปรหนึ่งในสถานการณ์ที่ควบคุมแล้วได้หลายครั้งตามที่เราต้องการ (ทำซ้ำได้ ถ้าต้องการดูอีกเพื่อความแน่ใจ) ซึ่งจะทำไม่ได้ในการเก็บข้อมูลภาคสนาม นอกจากนี้ในภาคสนามนั้นจะมีตัวแปรหลากหลายเกี่ยวข้องที่ทำให้เราไม่สามารถมั่นใจว่าเราได้แยกเฉพาะตัวแปรที่เราสนใจออกมาศึกษาแล้ว ทางออกที่ดีของปัญหานี้คือการศึกษาปัญหาในสถานการณ์ที่ซับซ้อนน้อยลง คือ จำลองในห้องปฏิบัติการทางเศรษฐศาสตร์ โดยนักวิจัยสามารถออกแบบสถานการณ์ในการทดลอง ด้วยการจำลองเอาคุณสมบัติสำคัญของสถานการณ์ที่อยากจะศึกษา และควบคุมตัวแปรต่างๆให้คงที่ (Ostrom, 2006)

การทดลองในห้องปฏิบัติการช่วยให้ผู้วิจัยสามารถควบคุมราคาสินค้า งบประมาณ ข้อมูล และ action ของผู้เข้าร่วมการทดลอง ดังนั้นการทดลองจึงช่วยให้ผู้วิจัยวัดผลกระทบของปัจจัยต่างๆเหล่านี้ที่มีต่อพฤติกรรมของคนจริงๆในสถานการณ์จริงที่กำหนดและผู้วิจัยสามารถควบคุมได้ (Levitt/List, 2007)

เศรษฐศาสตร์เชิงทดลองสามารถทำอะไรได้บ้าง :
• ทดสอบทฤษฎี: ภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์ที่ได้รับการควบคุม เช่น ทดสอบความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ โดยควบคุมความพึงพอใจ (preferences) เทคโนโลยีหรือต้นทุน และข้อมูลในตลาด
• ค้นหาข้อเท็จจริง: เมื่อมีการทดลอง ก็จะสังเกตเห็นพฤติกรรมที่เป็น regularities ซึ่งอาจจะไม่ตรงตามที่ทฤษฎีทำนายเอาไว้ เมื่อเจอพฤติกรรมดังกล่าว ก็ออกแบบการทดลองเพื่อจะทดสอบความแม่นยำ (robustness) ซึ่งมักจะนำไปสู่ทฤษฎีใหม่ๆ
• ช่วยภาคปฏิบัติ:
-การทดลองเกี่ยวกับนโยบาย เช่น การประมูลแบบไหนที่ทำให้ได้รายรับสูงสุด เราควรจะใช้ภาษีสิ่งแวดล้อมหรือการซื้อขายใบอนุญาตในการรักษาสิ่งแวดล้อม
-การออกแบบตลาดและการทดสอบกฎกติกา เช่น การออกแบบระบบการประมูล
-การวัดหาค่าความพึงพอใจ (preferences) เช่น หาความเต็มใจที่จะจ่ายสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ
-การทำนายผล เช่น ทำนายผลการเลือกตั้ง

ในส่วนของ external validity ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานเดียวกันกับการทดลองในวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆนั้น Plott (1982) ได้กล่าวว่า การทดลองในห้องปฏิบัติการนั้นได้นำคนจริงๆมาร่วมปฏิบัติการภายใต้กฎกติกาจริงเพื่อผลตอบแทนที่ได้จริง(ในรูปแบบของเงิน) กระบวนการในห้องปฏิบัติการนั้นแตกต่างจากโลกจริงตรงที่มันเรียบง่ายกว่ามาก(ไม่ซับซ้อนเท่า) ดังนั้นมันยากที่จะคิดว่าโมเดลที่ใช้กับสถานการณ์ทั่วไปจะใช้ไม่ได้กับเศรษฐกิจจำลองในห้องปฏิบัติการ ดังนั้นหากโมเดลที่ใช้นั้นยังมีปัญหาในห้องปฏิบัติการที่เป็นระบบเรียบง่ายกว่าความเป็นจริง เราควรจะนำโมเดลนั้นไปพิจารณาใหม่

อย่างไรก็ตาม การทดลองเป็นเพียงแค่วิธีหนึ่งที่ช่วยเสริมเติมความสมบูรณ์ของการวิเคราะห์ปัญหา เราควรจะใช้ผลจากการวิเคราะห์หลายๆวิธีในการทำความเข้าใจและหาทางออกให้กับปัญหานั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ทางโมเดล การทดลอง และข้อมูลจากสถานการณ์จริง
และอย่างที่แปลไปในบล็อกที่แล้ว Ockenfels บอกไว้ว่า ทางเลือกสำหรับโมเดลที่ไม่สามารถให้คำตอบที่น่าพอใจได้จึงไม่ใช่ “ไม่ใช้โมเดลนั้น” แต่เป็น “หาโมเดลที่ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า”

ซึ่งเศรษฐศาสตร์เชิงทดลองก็กำลังช่วย"หาโมเดลที่ใช้ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า" อย่างแข็งขันเลยทีเดียว


ปล.อ่านเจอ อ.ปกป้อง จันวิทย์ เขียนเรื่อง"รางวัลโนเบล 2545" ในคอลัมน์"เก็บศรษฐศาสตร์มาเล่า" วันที่ 15 ตุลาคม 2545 เขียนอธิบายเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมไว้พอสังเขป ดีมากเลยค่ะ

references:
Levitt, Steven D. and John A. List (2007): What Do Laboratory Experiments Measuring Social Preferences Reveal About the Real World?, Journal of Economic Perspectives, 21(2), 153-174.
Ostrom, Elinor (2006): The value-added of laboratory experiments for the study of institutions and common-pool resources, Journal of Economic Behavior and Organization, 61, 149-163.
Plott, Charles R. (1982): Industrial Organization Theory and Experimental Economics, Journal of Economic Literature, 20(4), 1485-1527.
บล็อกที่แล้ว

Sunday 1 May 2011

การออกแบบตลาด

ขอประเดิม blog แรกที่เป็นเนื้อหาด้วยบทความของ Prof. Dr. Axel Ockenfels ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการอ้างถึงบ่อยที่สุดคนหนึ่งของประเทศเยอรมนี และเป็นอาจารย์ของเราเอง บทความนี้แนะนำสาขาการออกแบบตลาดแบบคร่าวๆ โดยตอนที่ Prof. Ockenfels เขียนบทความนี้นั้นที่เยอรมันกำลังจะประมูลคลื่น GSM บทความนี้ลงในหนังสือพิมพ์ Frankfurter Allgemeine Zeitung เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 2009 ค่ะ
(ใช้เวลาแปลประมาณห้าเดือนแน่ะ คราวหน้าต้องเร็วกว่านี้ ;)
Download ต้นฉบับได้ที่นี่
..............................................................................
ศิลปะในการออกแบบตลาด
เพื่อที่จะตอบข้อกล่าวหาที่ว่าการวิจัยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำไปใช้จริง นักเศรษฐศาสตร์ได้เดินเข้าไปในห้องทดลอง (laboratorium) ที่นั่นพวกเขาได้ทดสอบตลาดรูปแบบต่างๆ (market models) และแรงจูงใจ (incentives) ด้วยการทดลอง (experiments) ความก้าวหน้านั้นมีมากและมีความหมายอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นระบบการให้โบนัสหรือการประมูลต่างๆ การประมูลจะให้ผลอย่างที่ผู้จัดการประมูลหวังเอาไว้หรือไม่นั้น ถูกตัดสินไว้ด้วยกฎกติกาของการประมูลตั้งแต่ก่อนที่ค้อนจะเคาะเสียอีก นักเศรษฐศาสตร์รู้ว่าอะไรที่จะใช้ได้ผลและอะไรที่จะไม่ได้ผล

เร็วๆนี้ (ตั้งแต่ปี 2009:ผู้แปล) เยอรมันจะได้พบกับการประมูลที่ยิ่งใหญ่และซับซ้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา เป็นการประมูลเกี่ยวกับคลื่นความถี่ต่างๆที่หน่วยงานเครือข่ายแห่งชาติ (Bundesnetzagentur) จัดการประมูลผู้ให้บริการโทรคมนาคม การประมูลนี้ถูกจับตามองอย่างลุ้นระทึก เพราะการประมูลจะส่งผลต่อโครงสร้างตลาดโทรคมนาคมไปอีก 15 ปี หากการประมูลล้มเหลว จะทำให้ราคาสำหรับผู้บริโภคสูง เทคโนโลยีที่ไม่มีประสิทธิภาพ และการถอยหลังลงคลองของการขยายช่องสัญญาณ การประมูลจะประสบความสำเร็จโดยให้สัมปทานแก่ผู้ให้บริการที่มีนโยบายการให้บริการที่ดีที่สุดหรือไม่ และทำให้เกิดการแข่งขันของเทคโนโลยีและผู้ให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการออกแบบการประมูล

ด้วยการสนับสนุนของงานที่ได้รับรางวัลโนเบลปี 2007 ของ Leonid Hurwicz, Eric Maskin และ Roger Myerson การออกแบบตลาดได้พัฒนาเป็นอีกความหวังหนึ่งของการวิจัยในสาขาเศรษฐศาสตร์ ในขณะที่จวบจนปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่พยายามทำความเข้าใจตลาดรอบๆตัวให้ดีขึ้น และทำนายผลให้แม่นยำขึ้น แต่นักออกแบบตลาดกลับทำตรงกันข้าม พวกเขาตั้งคำถามว่ากฎเกณฑ์และกระบวนการของตลาดจะต้องเป็นอย่างไรเพื่อให้ได้ผลออกมาอย่างที่ต้องการ กฎการประมูลสำหรับคลื่นความถี่อย่างไรที่จะนำไปสู่การให้บริการอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วและราคาย่อมเยา การซื้อขายสิทธิการปล่อยมลพิษจะต้องได้รับการจัดการอย่างไรเพื่อที่สภาพภูมิอากาศจะได้รับการคุ้มครองที่ดีที่สุด กฎสำหรับตลาดซื้อขายไฟฟ้าข้อใดที่นำไปสู่ราคาไฟฟ้าที่เกิดจากการแข่งขันและสร้างจูงใจสำหรับการลงทุนที่เพียงพอ กระบวนการใดของการประมูลและการต่อรองกับซัพพลายเออร์ที่ช่วยลดราคาซื้อสินค้า ข้อมูลมากมายในตลาดอินเทอร์เน็ต (e-market) และตลาดการเงินควรจะได้รับการควบคุมอย่างไรเพื่อให้เกิดความไว้วางใจในตลาดเหล่านี้ ควรใช้กลไกการแบ่งสรรปันส่วนแบบใดเพื่อจัดสรรนักเรียนไปสู่โรงเรียน นักศึกษาไปยังมหาวิทยาลัย และผู้ให้บริจาคอวัยวะแก่ผู้รับบริจาค เพื่อที่จะป้องกันความล้มเหลวของการประสานงาน (coordination failures) และลดเวลาการรอคอย (waiting time) ระบบการให้ค่าตอบแทนแบบใดที่ทำให้ผลประโยชน์ส่วนตัวของพนักงานและผลประโยชน์ของบริษัทเป็นสิ่งเดียวกัน

เป็นเวลานานมากแล้วที่แนวคิดแบบโรงเรียนชิคาโก (Chicago School) เป็นใหญ่ แนวคิดที่ว่านี้ คือ ตลาดจะทำงานด้วยตัวของมันเอง กฎเกณฑ์ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญเท่าใดนัก แต่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ได้แสดงให้เห็นว่าในความเป็นจริงแล้วรายละเอียดของสภาพแวดล้อมในสถาบัน (institutions) สามารถมีส่วนกำหนดผลของกิจกรรมทางเศรษฐศาสตร์ได้เลย อย่างช้าที่สุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งล่าสุดทำให้พวกเราทั้งหมดรู้ว่า ความผิดพลาดในระบบการสร้างแรงจูงใจสามารถสร้างหายนะได้ ในความเป็นจริงการออกแบบตลาดมีความสำคัญมากกว่าจำนวนผู้เข้าแข่งขันหรือปัจจัยอื่นๆที่ถูกนับรวมแต่เดิมว่าทำให้ตลาดทำงานได้ การแข่งขันระหว่างธนาคารแทบจะไม่ได้ขาดแคลนเลย หากแต่การล้มเหลวของระบบการเงินมาจากแรงจูงใจ(ที่นำไปสู่ความล้มเหลว)ของนายธนาคาร สำนักจัดอันดับ และหน่วยงานควบคุม ในทางกลับกันการออกแบบตลาดที่ชาญฉลาดสามารถทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดได้ แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ให้บริการน้อยนิด ตัวอย่างหนึ่งก็คือ การประมูลจัดซื้อ ที่จะมีซัพพลายเออร์เฉพาะทางเพียงไม่กี่รายเข้ามาแข่งขันเพื่อให้ได้คำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อน

นักเศรษฐศาสตร์จะมีส่วนช่วยให้ตลาดมีผลลัพธ์ที่น่าปรารถนาได้อย่างไร หากไม่มีแม้แต่ใครที่รู้ว่า ใครจะให้บริการอินเทอร์เน็ตคุณภาพดีที่สุด ราคาไฟฟ้าที่แท้จริงคือเท่าไหร่ หรือโรงเรียนไหนควรจะดีที่สุดที่จะรับเด็กคนไหน แบบสอบถามไม่สามารถให้คำตอบที่ยุติธรรมแท้จริงได้ เพราะคำตอบมักจะคลาดเคลื่อนและข้อเท็จจริงที่สำคัญมักจะถูกละเลย ความท้าทายของการออกแบบตลาด คือ การออกแบบกฎเกณฑ์และกระบวนการที่ทำให้ข้อมูลสำคัญทั้งหมดถูกเปิดเผยออกมาอย่างน่าเชื่อถือ

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิม (traditional economic theory) ให้มุมมองมโนภาพ (conceptional insights) แก่การออกแบบตลาด แต่เฉพาะมุมมองนี้มันไม่เพียงพอ เหตุผลหนึ่ง คือ โมเดลมาตรฐานต่างๆทางเศรษฐศาสตร์ใม่ได้ตรงตามความเป็นจริงของพฤติกรรมมนุษย์เสมอไป (โมเดลมาตรฐานมักจะใช้สมมติฐานที่ว่ามนุษย์ตัดสินใจเหมือนสัตว์เศรษฐกิจ มองเพียงผลประโยชน์ของตนเอง:ผูแปล) กฎเกณฑ์ของตลาดเป็นสิ่งสำคัญเพราะมันเป็นตัวสร้างแรงจูงใจและเพราะมนุษย์ตอบสนองต่อแรงจูงใจ และไม่เสมอไปที่มนุษย์จะตอบสนองแรงจูงใจอย่างที่สัตว์เศรษฐกิจ (Homo Oeconomicus) ทำ มนุษย์ที่มีเลือดมีเนื้อมักจะไม่มีความสามารถทำทุกสิ่งได้อย่างมีเหตุมีผล แต่มนุษย์ทำผิดพลาด และไม่ได้ถูกจูงใจแต่เฉพาะจากเงินเท่านั้น บางครั้งมีคำกล่าวว่าอย่างน้อยๆการคลาดเคลื่อนจากพฤติกรรมที่เป็นเหตุเป็นผลไม่ได้ส่งผลอะไรต่อตลาดจริงที่มีแต่ผู้ร่วมตลาดที่มีประสบการณ์สูง คำกล่าวที่ว่านี้ผิด อย่างที่มีแนวโน้มในการประมูลที่คนจะเสนอราคาสูงเกินไปทั้งในการประมูลที่ผู้เข้าร่วมเป็นนักศึกษาและผู้เข้าร่วมเป็นเหล่าผู้จัดการหรือผู้ประกอบการ เราจะสังเกตได้จากราคาของมือสองที่นำมาประมูลใน e-bay ที่ราคาประมูลสูงกว่าราคาของซื้อใหม่เสียอีก หรือในการประมูลเพื่อทำโครงการสาธารณูปโภค ผู้ที่ชนะการประมูลมักจะประเมินต้นทุนที่แท้จริงต่ำเกินไป รวมไปถึงการประมูลสัมปทานคลื่น GSM ที่มีการเสนอราคาที่สูงเกินจริง การออกแบบตลาดที่ชาญฉลาดช่วยผู้เข้าร่วมการประมูลให้หลีกเลี่ยงความผิดพลาดเช่นนี้ได้

อีกตัวอย่างหนึ่งมากจากการวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับระบบการให้โบนัสสำหรับผู้จัดการบริษัทใหญ่บริษัทหนึ่ง งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าระดับของเงินโบนัสไม่ได้ส่งผลที่สามารถวัดได้ต่อความพึงพอใจหรือผลงานของผู้จัดการเหล่านั้น สิ่งที่มีผลกลับเป็นความแตกต่างของเงินโบนัสที่ตนได้กับเงินโบนัสที่ผู้จัดการคนอื่นๆได้ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกันได้ชี้ให้เห็นว่า คนเราจะตัดสินใจเสี่ยง เมื่อตอนที่หากเขาไม่เสี่ยงแล้ว เขาอาจจะตกไปรั้งท้ายกลุ่ม ระบบแรงจูงใจที่ไม่คำนึงถึงผลของการเปรียบเทียบในสังคมและยึดหลักความคิดแบบที่สอนกันมา จะตกอยู่ในอันตรายที่จะจูงใจพนักงานบริษัทให้ไปผิดทางอย่างเป็นระบบ

ที่บอกว่ามนุษย์ไม่ได้ตัดสินใจแบบสัตว์เศรษฐกิจนั้น ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะมีพฤติกรรมที่ไร้เหตุผลหรือวุ่นวายสับสนตลอดเวลา แต่ว่าการตัดสินใจมาจากเหตุผลส่วนบุคคลมากกว่าซึ่งเหตุผลส่วนตัวนี้สามารถสืบหากฎเกณฑ์ของมันได้อย่างมีระบบ สิ่งนี้เป็นโจทย์ของจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่เป็นสาขาที่กำลังมาแรงของเศรษฐศาสตร์ ข้อมูลเชิงลึกที่ได้ช่วยพัฒนาระบบกฎเกณฑ์ที่แม่นยำ(robust)ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับลักษณะเฉพาะตัวของพฤติกรรมมนุษย์ อะไรที่ว่าแม่นยำนั้นขึ้นอยู่กับบริบทด้วย การประมูล e-bay จะต้องดำเนินการได้ แม้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูลที่ไม่มีประสบการณ์และอ่อนหัด (naive) การประมูลคลื่นความถี่จะต้องดำเนินการได้เช่นกัน แม้ว่าผู้ชำนาญการประมูลหาผลประโยชน์ทุกอย่างจากความผิดพลาดทุกข้อในการออกแบบการประมูล เร็วๆนี้ในการประมูลคลื่นความถี่ในแคนาดาได้มีผู้เข้าร่วมประมูลท่านนึงที่ตั้งใจศึกษากฎและระบบการประมูลเป็นอย่างดีและหาผลประโยชน์จากระบบการประมูลนั้น จนเขาประสบความสำเร็จที่เขาต้องจ่ายค่าสัมปทานคลื่นความถี่ที่เขาประมูลชนะถูกกว่าผู้เข้าแข่งขันอื่นๆถึงหนึ่งพันล้านดอลล่าร์เลยทีเดียว

การที่ผู้คนตัดสินใจไม่เหมือนกับที่ทฤษฎีพื้นฐานทำนายไว้ ไม่ได้หมายความว่าโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้คณิตศาสตร์คำนวณจะไม่มีประโยชน์ โมเดลจากการคำนวณ(formal model) ใช้อธิบายเงื่อนไขต่างๆสำหรับความเชื่อมโยงของผลต่างๆ เปิดเผยค่านิยมที่เป็นฐาน ป้องกันนักเศรษฐศาสตร์จากข้อผิดพลาดทางตรรกศาสตร์ ช่วยทำให้เกิดการแข่งขันทางความคิดอย่างโปร่งใสและยุติธรรม และในสถานการณ์ที่ซับซ้อนมักจะใช้งานได้ดีกว่าโมเดลจากบุคลิก(mental model) ทางเลือกสำหรับโมเดลที่ไม่สามารถให้คำตอบที่น่าพอใจได้จึงไม่ใช่ “ไม่ใช้โมเดล” แต่เป็น “โมเดลที่ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า” ไม่นานมานี้ได้มีความก้าวหน้าอย่างมากในการสร้างโมเดลของ”ความไว้วางใจ”ในสาขาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม โดยได้แสดงให้เห็นด้วยว่าการออกแบบตลาดสามารถมีอิทธิพลต่อความไว้วางใจได้ ตัวอย่างหนึ่งคือ ระบบการให้คะแนน (reputation system) ใน e-bay ที่ทำให้เกิดความไว้วางใจมากขึ้นในตลาดนิรนามระดับโลก

ในขณะเดียวกันในโมเดลคณิตศาสตร์ความจริงบางแง่มุมจะต้องโดนตัดทอนไป ดังนั้นผู้ออกแบบตลาดทุกคนจึงต้องมีการตรวจสอบความแม่นยำอยู่ในกล่องเครื่องมือ เหมือนกับที่มันจะขาดไม่ได้ในงานวิศวกรรม วิศวกรที่สร้างเครื่องบินจะไม่ยอมละการทดสอบความแม่นยำของเครื่องบินลำใหม่ที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมาในห้องปฎิบัติการ(lab) ไม่มีใครพร้อมที่จะยอมปล่อยให้นำระบบใหม่ไปใช้จริงก่อนที่จะมีการทดสอบแบบนี้ ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นกลับแตกต่าง ยังไม่มีมาตรฐานสำหรับการตรวจสอบความแม่นยำในตลาดต่างๆและระบบแรงจูงใจ แต่เศรษฐศาสตร์เชิงทดลองนี่แหละที่จะเติมเต็มช่องว่างที่จุดตัดระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติ ในห้องปฏิบัติการทางเศรษฐศาสตร์ ตลาดจะถูกทดสอบสำหรับการนำไปใช้จริง ตลาดที่ล้มเหลวตั้งแต่ภายใต้เงื่อนไขในห้องปฏิบัติการ ก็ไม่สมควรที่จะนำไปใช้จริงๆ การทดสอบนี้สามารถเป็น platform สำหรับฝึกฝนให้กับผู้มีส่วนร่วมในตลาดและช่วยผู้ปฏิบัติการในตลาดให้เข้าใจความรู้จากทฤษฎีมากขึ้นอีกด้วย

นักออกแบบตลาดสามารถศึกษาตลาดด้วยเครื่องมือนี้ (ห้องปฏิบัติการทางเศรษฐศาสตร์) เช่น สามารถศึกษาว่าการประมูลสัดส่วนดิจิตอลที่กล่าวถึงข้างต้นควรจะเป็นอย่างไรเพื่อให้ได้ประโยชน์จากคลื่นความถี่สูงที่สุด การประมูลจะมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อผู้ชนะการประมูล คือ ผู้ที่สามารถทำประโยชน์จากสัมปทานอันนี้ได้สูงที่สุด นั่นก็คือ คนที่ประเมินค่าของสัมปทานนี้สูงที่สุด สมมติว่า มีสัปทานแค่เพียงอันเดียว เราจะใช้ e-bay ในการประมูลดีหรือไม่ มันไม่น่าจะเป็นคำตอบที่ดีนัก แต่ว่านักออกแบบตลาดก็ยังจะชื่นชมส่วนประกอบหลักๆของ e-bay อยู่ดี การประมูลใน e-bay นั้นเหมือนกับสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า การประมูลราคาอันดับสอง “second price auction” ในรูปแบบการประมูลแบบนี้ผู้ชนะการประมูลไม่ได้จ่ายตามราคาที่เค้าเสนอ แต่จ่ายตามราคาที่สูงเป็นอันดับสอง (หรืออันดับรองลงมานั่นเอง) มันอาจจะดูแปลก แล้วทำไมเราต้องพอใจกับกฎนี้ด้วย ข้อดีของกฎนี้ก็คือว่าในการประมูลราคาอันดับสองนี้ทุกคนจะเสนอราคาที่ตรงกับการประเมินราคาของเค้า เพราะผู้ที่ชนะการประมูลจะไม่ได้จ่ายราคาที่เค้าเสนอไป เค้าจึงไม่มีแรงจูงใจที่จะเสนอราคาที่ต่ำกว่าการประเมินราคานั้น ราคาเสนอที่เท่ากับราคาที่เค้าประเมินไว้การันตีว่าราคาที่เค้าจะต้องจ่ายจะต่ำกว่าราคาประเมินของเค้าถ้าเค้าชนะการประมูล การประมูลราคาอันดับสองจะเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงซึ่งสำคัญต่อผลการประมูลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนี่ต่างกับการประมูลแบบทั่วไปหรือการประเมินราคาสูงสุด “first price auction” ที่ผู้ชนะจะต้องจ่ายตามราคาที่เค้าเสนอ ผู้เข้าร่วมประมูลจึงเสนอราคาต่ำกว่าราคาประเมินที่แท้จริงของเค้าเสมอ ดังนั้นผู้ที่เสนอที่ประเมินราคาสูงสุดจึงชนะการประมูล และสัดส่วนดิจิตอลจะถูกใช้อย่างทีประโยชน์สูงสุด – บรรลุตามเป้าหมาย

ไอเดียสำหรับการประมูลราคาอันดับสองมาจาก William Vickrey นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลปี 1996 มีการนำไปใช้ในที่อื่นๆ เช่น การประมูลพื้นที่โฆษณาในเว็บไซต์ Google และมีคนเสนอให้นำมาใช้ในการประมูลคลื่นความถี่ แต่ว่าเรื่องของเรื่องมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะผู้เสนอราคามักอยากจะรอดูว่าผู้เสนอราคาคนอื่นๆจะมีพฤติกรรมในการประมูลอย่างไร แต่ถ้าหากว่าทุกคนรอกันหมด ราคาก็จะไม่เกิดขึ้น ใน e-bay การเสนอราคามักจะเข้ามาในนาทีหรือวินาทีท้ายๆก่อนสิ้นสุดการประมูล ในช่วงที่ชุลมุนราคาอาจจะก้าวกระโดดขึ้นมากและทำให้การประมูลไม่มีประสิทธิภาพได้ เช่นเดียวกับการประมูลที่ดินสำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอังกฤษเมื่อไม่นานมานี้ มีนักกฎหมาย ผู้จัดการ และที่ปรึกษาบริษัทมากมายเข้ามาทำการในการประมูล โดยที่ผู้เสนอราคาไม่ต้องให้ราคาประเมินที่แท้จริงของเขา แรงจูงใจที่คล้ายกันสำหรับการรอคอยที่เป็นกลวิธีก็พบได้ในตลาดการเงินอิเล็กทรอนิคหรือในการต่อรอง

กฎที่ฉลาดหลักแหลมสามารถช่วยได้ การประมูลทางอินเทอร์เน็ตที่จะต่อเวลาออกไปอีกหนึ่งนาทีเมื่อมีการเสนอราคาใหม่เข้ามาในตอนท้าย จะหยุดยั้งการเสนอราคาล่าช้า การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยนี้สามารถเปลี่ยนผลการประมูลได้อย่างมาก ในการประมูลคลื่นความถี่นั้น กฎในกิจกรรมก็ช่วยได้ ผู้เข้าร่วมประมูลจะสามารถร่วมเสนอราคาในตอนท้ายๆ ก็ต่อเมื่อเค้าได้เสนอราคาไปในตอนต้นด้วย กฎเหล่านี้สามารถลดพฤติกรรมแบบกลยุทธ (strategic behavior) และจะทำให้ได้ผลการประมูลที่มีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถทำให้การประมูลซับซ้อนขึ้นเป็นอย่างมากด้วย

ศิลปะในการออกแบบการประมูล คือ การสร้างการประมูลที่เอาผลการวิจัยล่าสุดมาร่วมพิจารณา และใช้ได้ผลตามนั้นจริงในการปฏิบัติ มันไม่ง่ายเสมอไป ถ้าเราใช้กฎแบบ e-bay เพื่อมาเปิดเผยราคาประเมินที่แท้จริงในการประมูลสัมปทานหลายๆชิ้น ผลที่ได้คือการประมูลที่เราไม่สามารถควบคุมได้ และการประมูลจะไม่ให้ผลของแรงจูงใจแบบที่เราคาดเอาไว้ ในอีกด้านหนึ่งกฎการประมูลง่ายๆจะเข้าใจง่ายและควบคุมได้ง่าย แต่จะสามารถเกิดพฤติกรรมแบบกลยุทธ หน้าที่ของนักออกแบบตลาด คือ ให้ก้าวไปก่อนผู้เสนอราคาเสมอ

ความท้าทายอย่างหนึ่ง คือ ทำอย่างไรที่จะหยุดการกระทำที่จะบั่นทอนรายได้และประสิทธิภาพของการประมูลได้ ผู้เข้าร่วมการประมูลมักจะรู้วิธีการใช้การเสนอราคาในการติดต่อสื่อสารกัน เช่น ราคา 1,000,002 ยูโร สามารถส่งสัญญาณได้ว่าเค้าจะพอใจกับสัมปทานหมายเลข 2 หากผู้เข้าร่วมแข่งขันจำกัดอุปสงค์ไว้ที่สัมปทานหมายเลขอื่นๆ เมื่อใดที่พวกเขาสามารถตกลงกันได้การประมูลก็จะจบสิ้น ในการประมูลที่ความร่วมมือประสบความสำเร็จ ราคาของสินค้าที่นำมาประมูลมักจะต่ำอย่างคาดไม่ถึง เช่น การประมูลคลื่นความถี่ของประเทศเยอรมนีในปี 1999: ตอนนั้นผู้เข้าร่วมประมูลส่งสัญญาณให้กันทันทีที่เริ่มการประมูล ว่าการแบ่งสัมปทานที่แฟร์ควรจะเป็นอย่างไร และพวกเขาก็สามารถตกลงกันได้อย่างรวดเร็ว หนึ่งปีให้หลังมีการประมูล GSM ของเยอรมนี หากแต่ว่าความพยายามที่จะจบการประมูลด้วยการส่งสัญญาณให้กันอย่างคราวที่แล้วกลับล้มเหลว ผลกระทบต่อรายรับนั้นสูงมาก: ผู้เข้าร่วมการประมูลดันราคาสำหรับสัมปทานขึ้นไปอีก 15 พันล้านยูโร โดยที่ส่วนแบ่งของสัมปทานนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเลย การออกแบบทางเศรษฐศาสตร์ไม่ต้องการให้ผลของการประมูลนั้นขึ้นอยู่กับความปราดเปรื่องเจ้าเล่ห์ของผู้เข้าร่วมการประมูลหรือความบังเอิญ การควบคุมการเคลื่อนที่ของข้อมูล(information flows) กฎกติกาของกิจกรรม และขั้นตอนอื่นๆ สามารถลดพฤติกรรมแบบกลวิธีได้มาก และส่งเสริมผลักดันให้ได้ผลตามที่ต้องการด้วย

ในตลาดไฟฟ้า(กระแสไฟฟ้า)มีความท้าทายที่คล้ายกับที่กล่าวมา ตรงที่ใช้ระบบการประมูลเพื่อให้ได้การจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ไว้วางใจได้และมีประสิทธิภาพทางราคา การพังทลายของตลาดไฟฟ้าในแคลิฟอร์เนียเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาไม่ใช่วิกฤติพลังงาน แต่เป็นวิกฤติการออกแบบตลาดที่มาจากกฎกติกาการควบคุมราคาไฟฟ้าที่อ่อนหัด (naive) โดยมีส่วนประกอบ คือ การควบคุมราคา และภาระผูกพันที่ต้องจ่ายกระแสไฟฟ้า เช่นเดียวกับที่เป็นประเด็นถกเถียงและนำไปประยุกต์ใช้ที่ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จในประเทศยุโรป ความล้มเหลวของ European Emission Trading ในระยะสุดท้ายของช่วงการซื้อขายแรกเมื่อปี ค.ศ. 2007 ก็เช่นเดียวกัน สาเหตุมาจากปัญหาในการออกแบบตลาด ราคาของใบอนุญาตปล่อยก๊าซ (certificate)มีความผันผวนมาก การห้ามนำใบอนุญาตจากช่วงการซื้อขายแรกไปใช้ในช่วงซื้อขายที่สองได้ทำให้ความไม่แน่นอนเพิ่มสูงขึ้น ท้ายที่สุดก็คือกฎในตลาดนั่นเองที่ทำให้ emission trading ไม่ประสบผลสำเร็จ นักออกแบบตลาดแสดงให้เห็นว่าจะออกแบบตลาดไฟฟ้าให้มั่นคงและปกป้องสภาพภูมิอากาศให้มีประสิทธิผลได้อย่างไร

แง่มุมหนึ่งของการออกแบบตลาดที่ถูกละเลยคือคำถามที่ว่า จริงๆแล้วเราควรจะซื้อขายผลิตภัณฑ์ใด ลองกลับมามองที่การประมูลสัดส่วนดิจิตอล: การให้บริการพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การดูแลด้วยอินเทอร์เน็ต broadband นั้น ทำกำไรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นในระยะแรกผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่จะมีแรงจูงใจเพียงเล็กน้อยที่จะให้บริการผลิตภัณฑ์นี้ หากควรจะมีการบริการนี้ คลื่นความถี่จะต้องได้รับการพ่วงกับข้อจำกัด การประมูลคลื่นความถี่ที่ไม่มีข้อจำกัดในการให้บริการนั้น ทำให้ได้รายได้จากการประมูลสูงสุดก็จริง แต่กลับไม่ได้ตอบจุดประสงค์ของการให้บริการแบบครบวงจร แล้วข้อจำกัดใดล่ะที่เหมาะสม ข้อเสนอแนะของรัฐต่างๆคือว่า ผู้ที่ชนะการประมูลควรจะเริ่มให้บริการเขตพื้นที่ที่มีประชากรเบาบางก่อนแล้วจึงไปในเขตที่มีประชากรหนาแน่น แต่ถ้าเริ่มให้บริการในเขตที่มีจำนวนครัวเรือนน้อยก่อน คนที่ได้ใช้บริการที่รวดเร็วขึ้นจะมีจำนวนน้อยกว่า ซึ่งมีอันตรายว่าจะมีผู้อยากรับการบริการนี้ไม่เพียงพอแล้วทำให้ไปถึงเป้าหมายอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ภาระผูกพันในการให้บริการที่อนุญาตให้ผู้ให้บริการบริการเขตที่มีคนอยู่เยอะก่อนจะพาไปสู่เป้าหมายที่ให้ครัวเรือนจำนวนมากเข้าถึง broadband ที่มีความเร็วสูงขึ้นได้ดีกว่า ถ้านอกจากนั้นยังมีการให้รางวัลสำหรับความเร็วอีก และถ้าต่อจากนั้นมีการให้บริการด้วยเทคโนโลยีที่ราคาถูกลง และถ้าหลีกเลี่ยงการสร้างซ้ำระบบสาธารณูปโภคที่ราคาแพงได้ ศักยภาพที่มีประสิทธิภาพอื่นๆก็จะเกิดขึ้นจริงได้ ข้อได้เปรียบทางราคาที่เกิดขึ้นของผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะถูกนำมาใช้ในการประมูลทั้งหมด (คือ นำมาใช้คำนวณเพื่อเสนอราคาประมูล) ผู้บริโภคจะได้รับผลประโยชน์สองอย่าง คือ จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้น และจากมูลค่าการประมูลที่มากขึ้น

แรงจูงใจเช่นนี้ทำงานได้ดีอย่างไร เห็นได้จากตัวอย่างงานซ่อมแซมบริเวณแยก highway แยกหนึ่ง ใน San Francisco ตอนแรกคาดกันว่าจะมีการซ่อมแซมประมาณ 50 วัน แต่เนื่องจากการซ่อมแซมจะขัดขวางจราจรที่คับคั่ง ทางการจึงตัดสินใจที่จะจ่ายเงิน 200,000 ดอลล่าร์ต่อวัน ให้แก่ผู้รับเหมาสำหรับทุกๆวันที่จำนวนวันทำงานน้อยลง ผลก็คือว่างานซ่อมแซมเสร็จภายใน 16 วัน และผู้รับเหมาได้รับเงินรางวัลไปหลายล้านดอลล่าร์ แต่ว่าเงินรางวัลได้ถูกคำนวณไว้ตั้งแต่ก่อนการประมูลงานแล้วและได้แข่งขันกันตั้งแต่ต้นแล้ว ผู้เสนอราคาได้คำนวณต้นทุนและรายรับต่างๆไว้แล้ว ผู้ใช้รถยนต์ได้รับประโยชน์จากการซ่อมแซมที่รวดเร็วขึ้นโดยไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นแม้แต่แดงเดียว ความสำเร็จที่คล้ายๆกันก็เป็นไปได้ เช่น การประมูลคลื่นความถี่ จุดซ่อมแซมถนน หรือการประมูลจัดซื้อในประเทศเยอรมนี ถ้าการออกแบบผลิตภัณฑ์และการออกแบบตลาดถูกนำมาเชื่อมโยงกัน

ในระยะหลังๆนี้ไม่มีสาขาใดในวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จมากเท่ากับสาขาการออกแบบตลาดในการเติมช่องว่างระหว่างการวิจัยกับการปฏิบัติ ในขณะเดียวกันการออกแบบตลาดก็ไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง: ในบางครั้งศาสตร์ก็ตามหลังความซับซ้อนและความเร็วของความเป็นจริง แต่การออกแบบตลาดโดยความหมายแล้ว คือ การพัฒนาเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้แก้ปัญหาในทางปฏิบัติและปราศจากคตินิยม (free of ideology) ในที่ที่การวิจัยยังก้าวไกลไม่เพียงพอ ความอ่อนน้อม การเตรียมพร้อม และความเต็มใจ จะช่วยให้เรียนรู้จากประสบการณ์ เช่นนั้นแล้วศาสตร์และภาคปฏิบัติจะได้รับผลประโยชน์จากกันและกัน