Sunday 8 May 2011

เศรษฐศาสตร์เชิงทดลอง คืออะไร (แบบเบาๆ :)

ในโมเดลเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มักสร้างมาจากสมมติฐานว่าคนเป็นสัตว์เศรษฐกิจ (Homo Oeconomicus) คือ มีเพียงแรงจูงใจที่จะหากำไรสูงสุด โดยตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลสมบูรณ์ และรู้ทุกเรื่อง มีข้อมูลทุกอย่าง แต่ในความเป็นจริงมนุษย์ไม่ได้ตอบสนองแรงจูงใจอย่างที่สัตว์เศรษฐกิจเสมอไป มนุษย์ที่มีเลือดมีเนื้อมักจะไม่มีความสามารถทำทุกสิ่งได้อย่างมีเหตุมีผล แต่มนุษย์ตัดสินใจผิดพลาด มีข้อจำกัดในการมีเหตุมีผล (bounded rationality) และไม่ได้ถูกจูงใจแต่เฉพาะจากเงินเท่านั้น ดังนั้นเราสามารถเพิ่มความแม่นยำของโมเดลได้โดยการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมการตัดสินใจของมนุษย์ ในห้องปฏิบัติการทางเศรษฐศาสตร์ (economic laboratory)

เศรษฐศาสตร์เชิงทดลอง เกิดมาจากความคิดที่ว่าเศรษฐศาสตร์สามารถค้นหาความจริงด้วยการทดลองโดยควบคุมตัวแปรได้เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ และไม่ใช่เก็บข้อมูลได้เพียงแต่จากภาคสนามหรือในโลกจริงๆ(real world)เท่านั้น ในการทดลองทางเศรษฐศาสตร์ จะใช้คนจริงๆมาสวมบทตัวละครในตลาดและเล่นเกมที่มีผลตอบแทนเป็นตัวเงินจริงๆ โดยเป็นแรงจูงใจภายใต้สถานการณ์ต่างๆในห้องทดลอง เพื่อทำความเข้าใจว่าการตัดสินใจและพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลได้รับอิทธิพลจากปัจจัยอะไรบ้างภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ถูกควบคุม

การวิจัยโดยการทดลองนี้ช่วยให้เราสามารถทดสอบผลกระทบของตัวแปรใดตัวแปรหนึ่งในสถานการณ์ที่ควบคุมแล้วได้หลายครั้งตามที่เราต้องการ (ทำซ้ำได้ ถ้าต้องการดูอีกเพื่อความแน่ใจ) ซึ่งจะทำไม่ได้ในการเก็บข้อมูลภาคสนาม นอกจากนี้ในภาคสนามนั้นจะมีตัวแปรหลากหลายเกี่ยวข้องที่ทำให้เราไม่สามารถมั่นใจว่าเราได้แยกเฉพาะตัวแปรที่เราสนใจออกมาศึกษาแล้ว ทางออกที่ดีของปัญหานี้คือการศึกษาปัญหาในสถานการณ์ที่ซับซ้อนน้อยลง คือ จำลองในห้องปฏิบัติการทางเศรษฐศาสตร์ โดยนักวิจัยสามารถออกแบบสถานการณ์ในการทดลอง ด้วยการจำลองเอาคุณสมบัติสำคัญของสถานการณ์ที่อยากจะศึกษา และควบคุมตัวแปรต่างๆให้คงที่ (Ostrom, 2006)

การทดลองในห้องปฏิบัติการช่วยให้ผู้วิจัยสามารถควบคุมราคาสินค้า งบประมาณ ข้อมูล และ action ของผู้เข้าร่วมการทดลอง ดังนั้นการทดลองจึงช่วยให้ผู้วิจัยวัดผลกระทบของปัจจัยต่างๆเหล่านี้ที่มีต่อพฤติกรรมของคนจริงๆในสถานการณ์จริงที่กำหนดและผู้วิจัยสามารถควบคุมได้ (Levitt/List, 2007)

เศรษฐศาสตร์เชิงทดลองสามารถทำอะไรได้บ้าง :
• ทดสอบทฤษฎี: ภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์ที่ได้รับการควบคุม เช่น ทดสอบความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ โดยควบคุมความพึงพอใจ (preferences) เทคโนโลยีหรือต้นทุน และข้อมูลในตลาด
• ค้นหาข้อเท็จจริง: เมื่อมีการทดลอง ก็จะสังเกตเห็นพฤติกรรมที่เป็น regularities ซึ่งอาจจะไม่ตรงตามที่ทฤษฎีทำนายเอาไว้ เมื่อเจอพฤติกรรมดังกล่าว ก็ออกแบบการทดลองเพื่อจะทดสอบความแม่นยำ (robustness) ซึ่งมักจะนำไปสู่ทฤษฎีใหม่ๆ
• ช่วยภาคปฏิบัติ:
-การทดลองเกี่ยวกับนโยบาย เช่น การประมูลแบบไหนที่ทำให้ได้รายรับสูงสุด เราควรจะใช้ภาษีสิ่งแวดล้อมหรือการซื้อขายใบอนุญาตในการรักษาสิ่งแวดล้อม
-การออกแบบตลาดและการทดสอบกฎกติกา เช่น การออกแบบระบบการประมูล
-การวัดหาค่าความพึงพอใจ (preferences) เช่น หาความเต็มใจที่จะจ่ายสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ
-การทำนายผล เช่น ทำนายผลการเลือกตั้ง

ในส่วนของ external validity ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานเดียวกันกับการทดลองในวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆนั้น Plott (1982) ได้กล่าวว่า การทดลองในห้องปฏิบัติการนั้นได้นำคนจริงๆมาร่วมปฏิบัติการภายใต้กฎกติกาจริงเพื่อผลตอบแทนที่ได้จริง(ในรูปแบบของเงิน) กระบวนการในห้องปฏิบัติการนั้นแตกต่างจากโลกจริงตรงที่มันเรียบง่ายกว่ามาก(ไม่ซับซ้อนเท่า) ดังนั้นมันยากที่จะคิดว่าโมเดลที่ใช้กับสถานการณ์ทั่วไปจะใช้ไม่ได้กับเศรษฐกิจจำลองในห้องปฏิบัติการ ดังนั้นหากโมเดลที่ใช้นั้นยังมีปัญหาในห้องปฏิบัติการที่เป็นระบบเรียบง่ายกว่าความเป็นจริง เราควรจะนำโมเดลนั้นไปพิจารณาใหม่

อย่างไรก็ตาม การทดลองเป็นเพียงแค่วิธีหนึ่งที่ช่วยเสริมเติมความสมบูรณ์ของการวิเคราะห์ปัญหา เราควรจะใช้ผลจากการวิเคราะห์หลายๆวิธีในการทำความเข้าใจและหาทางออกให้กับปัญหานั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ทางโมเดล การทดลอง และข้อมูลจากสถานการณ์จริง
และอย่างที่แปลไปในบล็อกที่แล้ว Ockenfels บอกไว้ว่า ทางเลือกสำหรับโมเดลที่ไม่สามารถให้คำตอบที่น่าพอใจได้จึงไม่ใช่ “ไม่ใช้โมเดลนั้น” แต่เป็น “หาโมเดลที่ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า”

ซึ่งเศรษฐศาสตร์เชิงทดลองก็กำลังช่วย"หาโมเดลที่ใช้ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า" อย่างแข็งขันเลยทีเดียว


ปล.อ่านเจอ อ.ปกป้อง จันวิทย์ เขียนเรื่อง"รางวัลโนเบล 2545" ในคอลัมน์"เก็บศรษฐศาสตร์มาเล่า" วันที่ 15 ตุลาคม 2545 เขียนอธิบายเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมไว้พอสังเขป ดีมากเลยค่ะ

references:
Levitt, Steven D. and John A. List (2007): What Do Laboratory Experiments Measuring Social Preferences Reveal About the Real World?, Journal of Economic Perspectives, 21(2), 153-174.
Ostrom, Elinor (2006): The value-added of laboratory experiments for the study of institutions and common-pool resources, Journal of Economic Behavior and Organization, 61, 149-163.
Plott, Charles R. (1982): Industrial Organization Theory and Experimental Economics, Journal of Economic Literature, 20(4), 1485-1527.
บล็อกที่แล้ว

No comments:

Post a Comment