Sunday 3 July 2011

นโยบายพลังงานหมุนเวียนในประเทศเยอรมนี

เป็นบทความที่เขียนร่วมกับพี่ช่วง (ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง) ให้กับมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค
ได้ลงหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 11 มิถุนายน 2554 หน้า 9

เว็บของ Gulf JP เอาไปลงอีกที
http://www.gulf.co.th/gulfjp/en/news/news-monitors-detail.php?id=1867
และเว็บ energychoices (แต่ไม่ใส่ชื่อผู้เขียนแหะ)
http://www.energychoices.in.th/node/257

ใครสนใจ ลองอ่านดูค่ะ
..............................................................................

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่องแนวทางการดำเนินนโยบายและกำกับกิจการไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภค สนับสนุนโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้รวบรวมนโยบายด้านพลังงานหมุนเวียนของประเทศเยอรมนีซึ่งผู้วิจัยคาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของไทย ที่จะเกิดประโยชน์โดยรวมอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถพาประเทศออกจากวิกฤตพลังงานได้
          พระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียน(Das Erneuerbare-Energien-Gesetz : EEG)
          พระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียนบังคับให้บริษัทผู้ให้บริการไฟฟ้าต้องรับซื้อกระแสไฟฟ้าที่ผลิตมาจากพลังงานหมุนเวียนโดยกำหนดขั้นต่ำตามราคาที่รัฐกำหนด พระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียนได้ถูกปรับปรุงครั้ง
          ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.2010 เพื่อผลักดันให้มีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
          ตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมายพลังงานหมุนเวียนนี้ในปี ค.ศ.1990 ก็ได้มีการพัฒนาพลังงานลมเป็นอย่างมาก และเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายพลังงานหมุนเวียนครั้งแรกในป
          ค.ศ.2000 ก็ทำให้การใช้พลังงานจากชีวมวลและพลังงานแสงอาทิตย์ขยายตัวขึ้นอย่างมากการพัฒนาที่น่าชื่นชมเป็นอย่างมากคือการใช้พลังงานความร้อนได้พิภพมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า
          ดังนั้น กฎหมายพลังงานหมุนเวียนนี้จึงได้กลายเป็นเครื่องมือที่ประสบความสำเร็จและน่าจะนำไปเป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศที่จะผลักดันนโยบายพลังงานหมุนเวียนให้เป็นรูปธรรมต่อไป
          พลังงานหมุนเวียนหลักๆ ที่มีใช้อยู่ในประเทศเยอรมนีในการผลิตไฟฟ้า คิดเป็น10.1% และได้รับการสนับสนุนภายใต้กฎหมายพลังงานหมุนเวียน  มีดังต่อไปนี้
          พลังงานลม
          จากข้อมูลของกระทรวงสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และความปลอดภัยทาง
          นิวเคลียร์ ของเยอรมนี ระบุไว้ว่า ในปี ค.ศ.2009 มีการก่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานลมมากขึ้น 880 แห่ง เทียบกับปี ค.ศ.2008 ที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานลมเป็นจำนวน 20,288 แห่งและมีการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลมทั้งหมด 37.8 ล้านกิโลวัตต์ (TWh) จากโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งหมด 21,164 โรงสัดส่วนของการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมต่อกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทั้งหมดคือ 6.5%
          พลังงานน้ำ
          ในปี ค.ศ.2009 มีการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำเป็นจำนวน 19 ล้านกิโลวัตต์(TWh) คิดเป็น 3.39% ของไฟฟ้าทั้งหมดและสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 16 ล้านตัน การเพิ่มจำนวนและการปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ มีค่อนข้างน้อยเช่นเดียวกับปีที่ผ่านๆ มา แต่ยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กอีกหลายๆ แห่งที่ควรได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาใช้งานได้ใหม่และการปรับปรุงเทคนิคในโรงงานที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัย
          อีกทั้งสร้างโรงงานไฟฟ้าเพิ่ม ณ จุดที่มีสิ่งก่อสร้างที่ปิดกั้นทางเดินน้ำอยู่แล้ว
          เป้าหมายของรัฐบาลเยอรมนี คือ เพิ่มกำลังการ ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำไปพร้อมๆ กับการ ปรับปรุงสภาพนิเวศวิทยาของแหล่งน้ำให้ดีขึ้นด้วย
          พลังงานชีวมวล
          ในปี ค.ศ.2009 มีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากชีวมวลเป็นจำนวนประมาณ 28.6 ล้านกิโลวัตต์ (TWh) คิดเป็นสัดส่วน 5.2% ของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด(ในการทำความร้อนใช้พลังงานจากชีวมวลเป็นสัดส่วนถึง 91% จากพลังงานที่ใช้ทำความร้อนทั้งหมด เนื่องจากประเทศเยอรมนีมีอากาศหนาวเย็น พลังงานที่จะใช้ทำความร้อนจึงเป็นสัดส่วนที่สำคัญ)
          พลังงานแสงอาทิตย์
          แสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานที่มั่นคงและสามารถใช้ได้ในระยะยาว พลังงานแสงอาทิตย์สามารถใช้ได้โดยตรงโดยนำมาทำความร้อน และสามารถให้กระแสไฟฟ้าได้จากการใช้โรงไฟฟ้าและความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (photovoltaic) ในปี
          ค.ศ.2009 กระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามากเช่นเดียวกับปีที่ผ่านๆ มา คือมีจำนวนทั้งสิ้น 6.2 ล้านกิโลวัตต์ (TWh) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
          ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไฟฟ้านิเวศ (Eco-Electricity)
          มีปัญหาเกี่ยวกับนิยามของไฟฟ้านิเวศอยู่สองประการ ดังต่อไปนี้
          ประการแรกไม่มีนิยามที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของไฟฟ้านิเวศ เพราะคำว่า ไฟฟ้านิเวศ (eco-electricity) ไม่ได้เป็นคำบรรยายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย
          ประการที่สองการส่งไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทุกแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน น้ำมันหรือกระแสลม ฯลฯ ไปสู่ผู้บริโภคใช้สายส่งเดียว ไม่ได้แยกสายส่งเป็นพิเศษสำหรับส่งไฟฟ้านิเวศ ดังนั้น ที่ปลายสายไฟฟ้าจึงไม่สามารถแยกได้ว่าไฟฟ้าที่ใช้มาจากแหล่งพลังงานใด
          แต่โดยทั่วๆ ไปแล้วมีคำนิยามของไฟฟ้านิเวศ ดังนี้
          ไฟฟ้านิเวศ(Eco-Electricity) คือ ไฟฟ้าที่ผลิตมาจากพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์พลังงานชีวมวล รวมไปถึงพลังงานความร้อนใต้โลก (Geothermal Energy) ซึ่งต่างจากไฟฟ้าแบบดั้งเดิม (Conventional Electricity)ที่ได้มาจากพลังงานนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ ที่ในขั้นตอนการผลิตจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก และส่งผลต่อปรากฏการณ์เรือนกระจก
          เนื่องจากประเทศเยอรมนีมีพระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียนมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 เพื่อสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ โดยผู้ให้บริการไฟฟ้าถูกบังคับให้รับซื้อไฟฟ้าประเภทนี้และขายต่อแก่ผู้บริโภค ราคาที่รับซื้อนี้ได้ถูกรวมอยู่ในราคาขายเรียบร้อยแล้ว
          ดังนั้น กระแสไฟฟ้าส่วนหนึ่งที่ผู้บริโภคได้ใช้จึงมาจากพลังงานนิเวศ
          ตั้งแต่มีพระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียนเป็นต้นมา มีผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าหันมาให้บริการไฟฟ้านิเวศ (ไม่มีกระแสไฟฟ้าจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลและนิวเคลียร์เจือปน)มากขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีกฎหมายบังคับ เมื่อกลางปี ค.ศ.2009 มีประชาชนประมาณ 2 ล้านคนใช้ไฟฟ้าจากไฟฟ้านิเวศ และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยบริษัทที่ได้รับความสนใจส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่ให้บริการไฟฟ้านิเวศอย่างเดียว
          และในปี ค.ศ.2009 มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้านิเวศต่อไฟฟ้าทั้งหมดถึง 16% ในปีค.ศ.2008 ไฟฟ้านิเวศมีราคา 1.1 เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (ประมาณ 42 สตางค์)ปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ ไฟฟ้าที่ได้รับการอุดหนุนจากพระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียนแล้ว จะไม่สามารถขายในนามของไฟฟ้านิเวศได้
          ดังนั้น ผู้ให้บริการไฟฟ้านิเวศจึงมักจะซื้อไฟฟ้ามาจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศยุโรปอื่นๆ และขายไฟฟ้านี้ในฐานะไฟฟ้านิเวศในประเทศเยอรมนี
          ประโยชน์ที่จะได้จากไฟฟ้านิเวศจะเกิดขึ้นเมื่อไฟฟ้านิเวศสามารถเข้ามาแทนที่ไฟฟ้าดั้งเดิมในตลาดได้ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไฟฟ้านิเวศที่ควรจะได้รับการสนับสนุนจึงเป็นไฟฟ้าที่ได้มาจากแสงอาทิตย์ กระแสลมกระแสน้ำ และชีวมวล
          สำหรับประเทศไทยนั้น หากเราจะทำนโยบายสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง ก็น่าที่จะผลักดันกฎหมายลักษณะนี้ให้ประชาชนและองค์กรอื่นๆ เข้ามามีบทบาทในด้านการผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ในครัวเรือน ถ้าเหลือใช้ก็สามารถขายคืนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต  หรือผู้ประกอบการอื่นๆ ได้
          ตรงนี้เป็นโจทย์ที่กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ คงต้องหาทางออกร่วมกันว่า ทิศทางของพลังงานไทยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาจัดการด้านพลังงานได้มากน้อยแค่ไหน